โรงเรียนบ้านหนองนกกะเรียน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาราชบุรี เขต 1 จังหวัดราชบุรี
วันที่ 29 มีนาคม 2024 12:16 AM
b-school04
logo-cโรงเรียนบ้านหนองนกกะเรียน
หน้าหลัก » นานาสาระ » เศรษฐกิจที่ล่มสลาย กับเหตุการณ์ยุคฟองสบู่แตกของประเทศไทย

เศรษฐกิจที่ล่มสลาย กับเหตุการณ์ยุคฟองสบู่แตกของประเทศไทย

อัพเดทวันที่ 28 ตุลาคม 2020 เข้าดู 331 ครั้ง

เศรษฐกิจที่ล่มสลาย ความล่มสลายประเทศไทยที่ได้ชื่อว่าเป็นยุคฟองสบู่แตกอย่างแท้จริง

เศรษฐกิจที่ล่มสลาย ใครหลายคนคงจำได้ถึงเหตุการณ์สำคัญทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นเมื่อยี่สิบกว่าปีที่แล้วที่เรียกกันว่าเหตุการณ์ ฟองสบู่แตก หรือ วิกฤตต้มยำกุ้ง ซึ่งส่งผลกระทบไปทั่วทั้งเอเชีย โดยเฉพาะคนที่ทำงานหาเลี้ยงชีพอยู่ในช่วงเวลานั้น ทั้งคนที่ทำธุรกิจการค้าและคนที่ทำงานเป็นมนุษย์เงินเดือนต่างก็ได้รับผลกระทบและบาดเจ็บกันอย่างมาก

ตัวผมเองก็เป็นหนึ่งในคนที่ทำงานบริษัทกินเงินเดือนโดยมีภาระทั้งผ่อนบ้านและผ่อนรถ แต่ผมก็ยังโชคดีกว่าคนอื่นๆอีกหลายคนที่ไม่ถึงกับถูกปลดออกจากงานแต่ก็ถูกลดเงินเดือนลดสวัสดิการต่างๆ ลง ซึ่งพวกเราก็ต้องยอมรับกันได้เพื่อให้บริษัทที่พวกเราทำงานอยู่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ ผมจึงอยากเล่าถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใน

ช่วงเวลานั้นเป็นลำดับเพื่อทบทวนความหลังให้กับตัวผมเองและเป็นข้อมูลที่คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์และความรู้แก่ท่านที่เติบโตขึ้นมาในพ.ศ. นี้และอาจจะไม่ทันประสบเหตุการณ์ในครั้งนั้น ย้อนกลับไปในช่วงประมาณปี พ.ศ. 2540 ที่เป็นที่จดจำและเรียกขานกันว่าเป็นยุคฟองสบู่แตก มันเริ่มต้นมาจากประมาณปลายปี พ,ศ, 2539

ค่าเงินบาทของไทยเรามีค่าแข็งเกินไปและประเท๋ศเรามีการสร้างหนี้เป็นเงินตราต่างประเทศมาเป็นจำนวนมหาศาล อันมีสาเหตุมาจากการเปิดเสรีทางการเงินทำให้มีการเปิดให้ธุรกิจต่างๆ กู้เงินตราจากต่างประเทศกันอย่างง่ายดายโดยไม่มีวินัยในการบริหารหนี้อย่างเพียงพอและขาดการกำกับดูแลที่เหมาะสมจากภาครัฐ

นอกจากนี้ประเทศไทยของเรายังเปิดโอกาสให้ต่างชาตินำเงินเข้าออกประเทศได้อย่างเต็มที่ รวมทั้งประเทศไทยของเรายังถูกโจมตีค่าเงินจากกลุ่มเฮดจ์ฟันด์และจอร์จ โซรอส จนธนาคารแห่งประเทศไทยต้องนำเงินทุนสำรองระหว่างประเทศไปสู้กับการโจมตีค่าเงินจนแทบจะไม่เหลือติดคลัง นอกจากนี้ยังเกิดการเก็งกำไรภายในประเทศ

ทั้งในอสังหาริมทรัพย์และในตลาดหุ้นใดยทำให้ทรัพย์สินเหล่านี้มีราคาสูงเกินความเป็นจริง รัฐบาลพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ์ ในขณะนั้นได้ให้กระทรวงการคลังสั่งการให้ธนาคารแห่งประเทศไทยทำการปกป้องค่าเงินบาทเป็นผลให้เงินคงคลังของประเทศที่เคยมีอยู่ในบัญชีกว่าเกือบสี่หมื่นล้านเหรียญสหรัฐลดลงเหลือเพียงร้อยกว่าล้านเหรียญสหรัฐ

การที่ทุนสำรองของประเทศลดลงเหลือเพียงเท่านี้ ทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องประกาศลดค่าเงินบาทลงเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2540 จากเดิมที่ประมาณ 25 บาทต่อดอลล่าห์สหรัฐ เป็นประมาณ 43 ต่อดอลล่าห์สหรัฐและมีแนวโน้มที่จะอ่อนลงเรื่อยๆ โดยไม่สามารถควบคุมได้จนเป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤตต้มยำกุ้งที่ลามไปหลายประเทศ

ด้วยเหตุนี้รัฐบาลจึงจำเป็นต้องขอความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟ โดยขอกู้เงินจากกองทุนดังกล่าวกว่าหนึ่งหมื่นเจ็ดพันล้านเหรียญสหรัฐ โดยโครงการนี้ทางไอเอ็มเอฟมีดำนาจในการเข้ามากำหนดนโยบายทางการเงินในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศไทยด้วย โดยทางไอเอ็มเอฟได้ระบุลงในเงื่อนไข

และข้อกำหนดในการให้กู้เงินในครั้งนั้น ขณะเดียวกันก็เกิดความไม่มั่นใจต่อสถาบันการเงินอย่างมาก มีการไปแห่ถอนเงินของประชาชนออกจากสถาบันการเงินเป็นจำนวนเงินมหาศาล แม้แต่เจ้าของสถาบันการเงินยังถอนเงินของตัวเองไปฝากธนาคารต่างประเทศ รวมทั้งเกิดเหตุการล้มละลายของธนาคารกรุงเทพพาณิชยการ

ชีงอาจเป็นผลกระทบให้ธนาคารรวมถึงสถาบันการเงินอื่นๆ ล้มตามกันไป รัฐบาลจึงต้องสั่งการให้กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาสถาบันการเงินเข้าไปสนับสนุนสถาบันการเงินเหล่านั้น ถึงกับต้องสั่งปิดกิจการชั่วคราวเพื่อหาหนทางในการฟื้นฟูแต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จโดยไม่อาจสร้างความเชื่อมั่นของสถาบันการเงินเหล่านั้นคืนมาได้

เศรษฐกิจที่ล่มสลาย

และสร้างความเสียหายให้กับกองทุนฟี้นฟูและพัฒนาสถาบันการเงินอย่างมาก จนในที่สุดเมื่อปลายปี พ.ศ. 2540 องค์การปฏิรูปสถาบันการเงินหรือปรส. จึงเสนอให้รัฐบาลประกาศปิดสถาบันการเงิน 56 แห่งอย่างถาวร โดยพิจารณาให้ดำเนินการต่อไปได้เพียง 2 แห่ง เป็นไปตามเงื่อนไขที่ที่ได้ตกลงไว้กับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ

การปิดสถาบันการเงินจำนวนมากในครั้งนั้นเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลก แม้แต่ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ยังจะเอาตัวเองเกือบไม่รอด พนักงานของสถาบันการเงินเหล่านี้ตกงานกว่าสองหมื่นคนและต้องตกเป็นภาระของรัฐในการให้ความช่วยเหลือและเยียวยา เมื่อฟองสบู่เศรษฐกิจเริ่มแตกทำให้ค่าเงินบาทลดลงเรื่อยๆ ดรรชนีตลาดหลักทรัพย์

จากเดิมที่อยู่ที่ 1,700 กว่าจุด ตกลงไปที่ 400 กว่าจุด จนลงไปถึงจุดต่ำสุดคือ 207 จุดในเดือนกันยายน พ.ศ. 2541 ราคาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์และราคาอสังหาริมทรัพย์ที่ตกลงกว่าครึ่ง หนี้ที่ไม่ได้ก่อให้เกิดรายได้ของสถาบันการเงินหรือเอ็นพีแอลพุ่งขึ้นไปสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ประเทศที่ล้มละลาย  แต่ผลกระทบที่ก่อให้เกิดการล้มลงของเศรษฐกิจจริงๆ

น่าจะมีสาเหตุมาจากผลของการลอยตัวค่าเงินบาท บริษัทห้างร้านต่างๆที่ไปกู้เงินจากต่างประเทศอันสืบเนื่องมาจากการเปิดเสรีทางการเงินและมีหนี้เป็นเงินตราต่างประเทศต้องแบกรับหนี้ที่เพิ่มขึ้นมหาศาล จนไม่สามารถจะดำเนินธุรกิจต่อไปได้ มีหลายบริษัทต้องล้มเลิกกิจการไป หลายบริษัทก็พยายามประคองตัวเองให้ทำธุรกิจต่อไปได้

แต่ก็ต้องปรับลดค่าใช้จ่ายให้ได้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการลดพนักงาน การลดเงินเดือน ลดสวัสดิการ ผู้คนต้องตกงานเป็นจำนวนมาก มีบริษัทต้องปิดกิจการและถูกฟ้องล้มละลายมากมาย ผู้คนหลายคนถึงกับฆ่าตัวตาย คนหลายคนกลายเป็นคนล้มละลายและต้องหนีหน้าหายไปจากสังคม บางคนหมดตัวไปจากการลงทุนในตลาดหุ้น

และล้มละลายหนีออกจากตลาด ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือคุณศิริวัฒน์เจ้าของแบรนด์ศิริวัฒน์แซนวิชที่เรารู้จักดีเพราะท่านเป็นคนมีชื่อเสียงขึ้นมาภายหลังจากฟองสบู่แตก คุณศิริวัฒน์สูญเสียเงินเป็นจำนวนนับพันล้านจากการลงทุนในตลาดหุ้น เมื่อมองย้อนกลับไปในช่วงเวลานั้นบางครั้งเราก็รู้สึกว่าเราผ่านประสบการณ์ที่ทำให้เราแข็งแกร่งขึ้น

ตัวผมเองโชคดีที่ไม่ถูกปลดออกจากงานแม้ว่าจะถูกลดเงินเดือนและสวัสดิการ แต่ก็ต้องรัดเข็มขัดและใช้ชีวิตแบบประหยัดและพอเพียงที่สุดเนื่องจากยังมีภาระต้องผ่อนบ้านผ่อนรถ โดยเฉพาะการผ่อนบ้านที่ต้องรับภาระดอกเบี้ยที่ปรับสูงขึ้นเป็นสิบกว่าเปอร์เซ็นต์ เพื่อนๆของผมหลายคนไม่ได้โชคดีเหมือนผม บางคนก็ถูกปลดออกจากงาน

ต้องไปหางานทำใหม่อย่างยากลำบาก คนที่ผมรู้จักบางคนเป็นผู้บริหารอยู่ในสถาบันการเงินที่ถูกสั่งปิดและถูกปลดจากงานต้องหันไปเป็นเกษตรกรก็มี แม้วิกฤตการฟองสบู่แตกหรือต้มยำกุ้งจะผ่านไปยี่สิบกว่าปีแล้ว หสายภาคส่วนในสังคมทั้งภาครัฐและเอกชนมีบทเรียนจากเหตุการณ์ครั้งนั้นมาแล้ว และเรียนรู้ที่จะปรับเปลี่ยนวิธีประกอบธุรกิจและมีนโยบายทางการเงินที่ระมัดระวังมากขึ้น แต่เราจะประมาทไม่ได้เพราะมันอาจจะเกิดขึ้นอีกก็ได้ สำหรับตัวผมเองก็ขอภาวนาอย่าให้ประวัติศาสตร์เกิดซ้ำรอยอีกเลย

นานาสาระ ล่าสุด